เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 6. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
(ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้)
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก
ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ
[41] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก
ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้ (4)
คำว่า ทั้งปวง ในคำว่า บุคคใดคลายราคะในกามทั้งปวง ได้แก่ ทุกสิ่ง
โดยอาการทั้งปวง ทุกอย่างโดยทุกประการ ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการ
ทั้งปวง คำว่า ทั้งปวงนี้เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด
คำว่า ในกาม อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม (2)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม1
คำว่า บุคคใดคลายราคะในกามทั้งปวง อธิบายว่า บุคคลใดเป็นผู้คายราคะแล้ว
คือปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คลายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว
สลัดทิ้งราคะแล้วในกามทั้งปวง โดยการข่มไว้ รวมความว่า บุคคลใดคลายราคะ
ในกามทั้งปวง
คำว่า อุปสีวะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ เป็นคำที่
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 8/66-67

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :185 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 6. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระผู้มี-
พระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ1 รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ
คำว่า ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ อธิบายว่า ละ คือ
สละ เสียสละ ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นสมาบัติ 6 เบื้องต่ำ ได้แก่ อาศัย ติด
ติดแน่น แนบแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่ออากิญจัญญายตนสมาบัติ รวมความว่า ละ
สมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
คำว่า น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง อธิบายว่า สัญญาสมาบัติ 7
ตรัสเรียกว่า สัญญาวิโมกข์
บรรดาสัญญาสมาบัติเหล่านั้น อากิญจัญญายตนสมาบัติ เป็นวิโมกข์อันเลิศ
ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด และยอดเยี่ยม ผู้น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์
ชั้นสูง คือ เลิศ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด ยอดเยี่ยม ด้วย
อธิมุตติวิโมกข์ ได้แก่ น้อมใจเชื่อในสัญญาวิโมกข์นั้น น้อมใจไปสู่สัญญาวิโมกข์นั้น
เที่ยวไปด้วยสัญญาวิโมกข์นั้น มากไปด้วยสัญญาวิโมกข์นั้น หนักไปในสัญญาวิโมกข์นั้น
เอนไปในสัญญาวิโมกข์นั้น โอนไปในสัญญาวิโมกข์นั้น โน้มไปในสัญญาวิโมกข์นั้น
มีสัญญาวิโมกข์นั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
คำว่า ดำรงอยู่ ในคำว่า บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้น
อากิญจัญญายตนะนั้นได้ ได้แก่ พึงดำรงอยู่ได้ 60,000 กัป
คำว่า ในนั้น ได้แก่ ในอากิญจัญญายตนสมาบัติ
คำว่า ไม่หวั่นไหว อธิบายว่า ไม่หวั่นไหว คือ ไม่พรั่นพรึง ไม่หลบหนี
ไม่อันตรธานไป ไม่เสื่อมไป
อีกนัยหนึ่ง ไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่ลุ่มหลง ไม่เสื่อมไป รวมความว่า
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้ ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 2/46-48

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :186 }